ข้อมูลพื้นฐาน / ประวัติโรงเรียน
ข้อมูลพื้นฐาน / ประวัติโรงเรียน
1.ข้อมูลพื้นฐาน       
1.1 ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล 
       ตั้งอยู่เลขที่  19 ถนนบรรณาการ ตำบลในเมืองอำเภอเมืองชัยภูมิ  จังหวัดชัยภูมิ หมายเลขโทรศัพท์ 0- 4481-1849
โทรสาร 0-4481-1062

          ที่ตั้งปัจจุบัน อยู่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ และอยู่ติดกับอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล

          อาณาเขต    ทิศเหนือ          ติดถนนบรรณาการ
                              ทิศตะวันออก    ติดห้องสมุดประชาชน และโรงพยาบาลชัยภูมิ 
                               ทิศใต้             ติดที่ดินส่วนบุคคล  
                              ทิศตะวันตก      ติดถนนหฤทัย
                              มีพื้นที่รวม        29 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา

1.2 เปิดสอนตั้งแต่ระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง ระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 6
1.3 มีเขตพื้นที่บริการ 5 ตำบล  ได้แก่  ตำบลในเมือง ตำบลรอบเมือง  ตำบลบุ่งคล้า ตำบลโคกสูง และตำบลโพนทอง (เฉพาะหมู่ที่ 1, 2, 7 และ 12)

2. ข้อมูลด้านการบริหาร
2.1 ผู้อำนวยการ
             ชื่อ – สกุล  นายกีฬาชัย รัตนีย์ศรีบัณฑิต  วุฒิการศึกษาสูงสุด การศึกษาหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา
ดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนนี้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน
2.2 รองผู้อำนวยการ จำนวน 4 คน ได้แก่
     1. นายพฤษทล   ชำนาญ                   วุฒิการศึกษาสูงสุด กศ.ม.(บริหารการศึกษา)
     2. นางเพลินตา   ประยูรหาญ              วุฒิการศึกษาสูงสุด ศษ.ม.(บริหารการศึกษา)
     3. นายอาทิตย์   เรียงสาทร                วุฒิการศึกษาสูงสุด ศษ.ม.(บริหารการศึกษา)
     4. นายยุทธนา   บุญพุฒ                    วุฒิการศึกษาสูงสุด ศษ.ม.(บริหารการศึกษา)
 
2.3 ประวัติของโรงเรียน
             โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล ก่อตั้งขึ้นในราว ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2442) ในสมัยรัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเทพมุณีได้ตั้งโรงเรียนสอนกุลบุตรกุลธิดาขึ้นที่วัดชัยประสิทธิ์  (วัดสะแกเดิม) ตั้งอยู่ใกล้บ้านหนองบ่อ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ มีนักเรียน 100 คน  ครู 1 คน
             ต่อมาหลวงพิทักษ์ นรากร ผู้ว่าราชการเมืองชัยภูมิ ได้ขอรับบริจาคเพื่อปรับปรุงโรงเรียนโดยมีผู้บริจาคดังนี้  นายแก้วเล็ก (คนใช้) 1 บาท นายต่วน (เสมียนตรี) 1 บาท นายน้อย (เสมียนสามัญ) 2 บาท หลวงอินอาญา(นักการ) 8 อัฐ หลวงสิทธิ์การภักดี (ปลัดเมือง) 12 บาท ขุนศรีนิติสาร (สัสดี) 4 บาท ขุนสง่าบุริรักษ์ (จ่าเมือง) 4 บาท หลวงประกิจ สรรพกร (ผู้ช่วย) 10 บาท หลวงนรินทร์สงคราม (นายอำเภอจัตุรัส) 8 บาท รวม 166 บาท 8 อัฐ หลวงพิทักษ์นรากร ได้นำเงินที่ได้ไปจ้างครูเพิ่มเป็น 2 คน คนละ 5 บาทต่อเดือน รวมปีหนึ่ง 144 บาท คงเหลือเงิน 22 บาท 8 อัฐ ได้นำไปซื้อม้านั่งสำหรับนักเรียน มีพระครูจรูญ นิโรธกิจ (จรูญ คำภีระ) ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์และเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน ในการให้การศึกษาเล่าเรียนแก่คฤหัสถ์และบรรพชิต  ต่อมาการศึกษาของคฤหัสถ์และบรรพชิตแยกออกจากกันเป็นสองฝ่ายเปิดสอนระดับประโยคหนึ่ง (ป.5 ถึง ป.7) และประโยคสอง (ม.ศ.1 ถึง ม.ศ.3) โดยมีพระอาจารย์เกิดเป็นครูใหญ่คนแรก
          วันที่ 2 ธันวาคม รศ.121 (พ.ศ. 2442) หลวงพิทักษ์นรากรผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สมัยนั้นได้เสนอเรื่องขอตั้งโรงเรียนไปยังกระทรวงมหาดไทย
          วันที่ 12 ธันวาคม ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2442) พระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอขอตั้งโรงเรียนไปยังพระยาสุริยศักดิ์ปลัดกระทรวงธรรมการ และได้เสนอต่อไปยังสำนักราชเลขานุการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสมมตอมรพันธ์ และความทราบถึพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระราชกระแสลายพระหัตถ์อนุโมทนา วันที่ 25 ธันวาคม ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2442) พระยาวุฒิการบดีได้แจ้งเรื่องกลับมาในวันที่ 27 ธันวาคม ร.ศ.121 (พ.ศ.2442)
          ราว พ.ศ. 2445 พระอาจารย์เกิดลาออกจากราชการ ทางราชการแต่งตั้งพระอาจารย์เปล่งเป็นครูใหญ่แทน
          ราว พ.ศ. 2450 พระอาจารย์เปล่งลาออกจากราชการ กลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดนครราชสีมา ทาราชการจึงแต่งตั้งให้พระอาจารย์ป้อมเป็นครูใหญ่และปีเดียวกันโรงเรียนย้ายมาเรียนที่วัดทรงศิลา โดยอาศัยศาลาการเปรียญเป็นสถานที่เรียน
          พ.ศ. 2452 นายพรหมมา ศิริพรหมมา เป็นครูใหญ่และในปี พ.ศ. 2456 ทางราชการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ายกองทหารไปรวมอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา จึงได้ยกอาคารให้เป็นสถานศึกษา โรงเรียนจึงได้ย้ายไปอยู่ที่กองทหาร (อยู่ที่สนามบินปัจจุบัน)  ต่อมาย้ายกองทหารกลับ จึงจำเป็นต้องย้ายที่เรียนไปวัดทรงศิลาอีกครั้งหนึ่ง
          กระทั่งปี พ.ศ.2458 ทางราชการได้สร้างโรงเรียนใหม่ขึ้น ณ สถานที่ปัจจุบัน เดิมบริเวณที่สร้างโรงเรียนใหม่นี้เป็นที่นาของนายพรหมมา ศิริพรหมมา ซึ่งได้ซื้อไว้เป็นราคา 11 บาท (จำนวน 23 ไร่เศษ ) นายพรหมมา ได้ขายให้คนอื่นต่อไป และทางราชการได้ซื้อต่อไว้เป็นที่สร้างโรงเรียนด้วยราคาประมาณ 20 บาท สภาพของโรงเรียนหลังใหม่นี้เป็นเรือนไม้ ใต้ถุนเตี้ยชั้นเดียว หลังคามุงสังกะสี  
            พ.ศ. 2459 ทางราชการได้แต่งตั้งนายหนู (มนู) นาคามะดี วุฒิ ป.ม. จากนครราชสีมา
มาเป็นครูใหญ่โรงเรียนชัยภูมิ และมาช่วยกันกับนายพรหมมา ก่อสร้างโรงเรียนหลังใหม่จนสำเร็จ จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจากวัดทรงศิลามาเรียนที่โรงเรียนใหม่และได้เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
          พ.ศ. 2471 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้น มีนายกุหลาบ (สกล) ประภาสะโนบล เป็นครูประจำชั้น
          พ.ศ. 2473 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ขึ้น มีนายกุหลาบ (สกล) ประภาสะโนบล เป็นครูประจำชั้น  ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ให้นายเหลือ  คำพิทักษ์  ซึ่งย้ายมาจากโรงเรียนประจำจังหวัดนครราชสีมา (ปัจจุบันนี้ชื่อโรงเรียนสุรนารีวิทยา) มาเป็นครูประจำชั้น
           พ.ศ. 2475 ได้เปิดการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่สถานที่เรียนไม่พอ จึงได้สร้างอาคารเรียนขึ้นอีก 2 หลัง อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของอาคารเรียนหลังเก่าประมาณ 20 เมตร  เป็นเรือนไม้พื้นสูง หลังคามุงสังกะสี
          พ.ศ.  2481 โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชัยภูมิได้สร้างเสร็จ จึงได้โอนนักเรียนชายหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และนักเรียนหญิงตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 3 ไปเรียนที่นั่น ส่วนนักเรียนสตรีตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป คงเรียนอยู่ที่เดิมร่วมกับนักเรียนชายจนกว่าจะสอบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ทั้งหมดก็หมดไปเอง
          พ.ศ. 2532
โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานครั้งแรก โดยมีนายทองอินทร์ เพียภูเขียว  เป็นผู้บริหารโรงเรียน
          พ.ศ. 2548 โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานครั้งที่ 2 โดยมีนายวงษ์ชัย ชนะชัย เป็นผู้บริหารโรงเรียน
          พ.ศ. 2555 โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทานครั้งที่ 3 โดยมีนายสุรวิทย์ พลมณี เป็นผู้บริหารโรงเรียน
          พ.ศ. 2520 โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาพัฒนาภูมิภาค (คมภ.) ใช้หลักสูตรแบบกว้าง มีวิชาบังคับ วิชาเลือก วิชาการงานและอาชีพ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน อาคารโรงฝึกงานหลายหลัง ได้รับจัดสรรอัตราครูสายสามัญ สายอาชีพหลายอัตรา พร้อมทั้งให้คณะผู้บริหารไปฝึกอบรมที่ประเทศแคนาดาด้วย

การสถาปนาโรงเรียน
              เนื่องจากวันที่ 12 ธันวาคม ร.ศ. 121 พระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลองปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เสนอขอตั้งโรงเรียนไปยังพระยาสุริยศักดิ์ปลัดกระทรวงธรรมการ และได้เสนอต่อไปยังสำนักราชเลขานุการได้นำความกราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ และความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระราชกระแสลายพระหัตถ์อนุโมทนา  ในวันที่ 25 ธันวาคม ร.ศ.121 (พ.ศ.2442) พระยาวุฒิการบดีได้แจ้งเรื่องกลับมาในวันที่ 27 ธันวาคม ร.ศ.121 (พ.ศ.2442)       
               คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล โดยมีนายทองอินทร์ เพียภูเขียว อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพลเป็นประธาน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544  ให้วันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล
              ปี พ.ศ. 2547 นายวงษ์ชัย ชนะชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพลในขณะนั้น ได้ประสานงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชัยภูมิเขต 1 รับบริจาคพื้นที่จำนวน 4 ไร่ 3 งาน (ติดโรงพยาบาลชัยภูมิ)  รวมพื้นที่ปัจจุบัน 29 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา
              ปี พ.ศ. 2549 ได้รับทุนจากบริษัทไทยบริดจสโตน 1,800,000 บาท ก่อตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ไทยบริดจสโตน
             ปี พ.ศ. 2550  เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ
             ปี  พ.ศ. 2553   ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School)                                   
             ปี  พ.ศ. 2553  ได้รับคัดเลือกเป็นที่ตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา จังหวัดชัยภูมิ